วันศุกร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เรื่องเล่า "เที่ยวภาคเหนือธันวา๕๔"




































คณะผู้บริหารสถานศึกษา เครือข่าย อ.พนม ทัศนศึกษา และศึกษาดูงาน
“ลุงเล่า..เรื่อง...เที่ยวเหนือเดือนธันวาคม...ให้หลานฟัง”
๑๐-๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๔
บรรยายและภาพโดย....นายปณิธาน เรืองไชย ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบางปรุ อ.พนม
----------------------------------------------------------
วันเสาร์ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๔ ลุงกับป้าเหม่ง (ผ.อ.ยุพิน เรืองไชย ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบางหิน)พร้อมคณะผู้บริหารสถานศึกษาในอำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ๔๒ คน รวมทั้งผู้ติดตาม ขึ้นรถโดยสารปรับอากาศ “ศุภกรทราเวล” หน้าตลาดพนม เวลา ๐๔.๐๙ น. มุ่งหน้าจุดหมายปลายทางภาคเหนือของประเทศไทย
๒๐.๐๐ น. เข้าพักที่โรงแรมบ้านสวนรีสอร์ท จ.นครสวรรค์ โดยลุงกับป้าพักห้องเดียวกัน ห้อง ๑๐๖ เป็นกลุ่มห้องที่อยู่ไกลจากพวกเดียวกัน ซึ่งเมื่อเดือนกว่าๆที่ผ่านมาบริเวณนี้น้ำท่วมใหญ่ต้องใช้เรือในการสัญจร ขณะที่ลุงกับคณะมาเยือนไม่มีร่องรอยของน้ำท่วมแล้ว

อาทิตย์ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๔ ตื่นเช้า รับอาหารเช้าที่โรงแรมจัดให้ ออกมาย่อยอาหารรอเพื่อน ชมบรรยากาศเช้ามืดเมืองนครสวรรค์จากบริเวณโรงแรมที่พัก

๐๘.๐๐ น. แวะวัดคีรีวงค์ ชมพระธาตุบนยอดเขาดาวดึงส์ โดยจอดรถทัวร์ไว้ เช่ารถสองแถวขึ้นไปบนภูเขา โดยคุณตา ผ.อ.นิเวช ก๊กเหลี่ยม อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านใหญ่ซึ่งเกษียณไปแล้ว พร้อมป้าปุดศรีภรรยาก็ร่วมเดินทางไปด้วยในครั้งนี้ ขณะรอรถสองแถว รองผ.อ.เขต มณีโชติ แพเรือง และ คุณตา ผ.อ.มานิตย์ ลาวัณวัฒนกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนวัดปากตรังนั่งถ่ายภาพเป็นที่ระลึก ลุงเป็นผู้ถ่ายรูปไม่ค่อยจะมีรูปถ่ายในการเดินทางเลยเต๊ะท่า ให้ป้าเหม่งถ่ายไว้เสียหนึ่งภาพโดยให้เห็นฉากหลังเป็นทิวทัศน์เขาดาวดึงส์ ก่อนขึ้นไปบนเจดีย์



พระจุฬามณีเจดีย์ ตั้งอยู่บนยอดเขาดาวดึงส์ วัดคีรีวงศ์ กลางใจเมืองนครสวรรค์ ท่านเจ้าคุณพระราชพรหมาจารย์ (หลวงพ่อมหาบุญรอด) เจ้าอาวาสวัดคีรีวงศ์ รองเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ ได้ริเริ่มสร้าง พระจุฬามณีเจดีย์ เมื่อปีพุทธศักราช 2524 โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้าง ประมาณ 35 ล้านบาท

เป็นพระมหาเจดีย์ที่สร้างขึ้นอย่างวิจิตรตระการตายอดสูงเสียดฟ้าระปุยเมฆ ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาดาวดึงส์ วัดคีรีวงศ์ คือพระจุฬามณีเจดีย์ พระจุฬามณีเจดีย์สร้างขึ้นตรงฐานเจดีย์เก่าซึ่งเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นในสมัยศตวรรษที่ 19 ปลายกรุงสุโขทัย ประมาณ 600 ปีมาแล้ว

ลักษณะของพระจุฬามณีเจดีย์สร้างเป็นฐาน 4 เหลี่ยม หมายถึงมหาสติปัฏฐาน 4 ซึ่งหมายถึง การเอาสติเป็นที่ตั้ง กำหนดเอาสติเป็นใหญ่ในการบำเพ็ญกรรมฐานโดยพิจารณาฐาน 4 คือ กาย เวทนาจิต ธรรม เป็นอารมณ์ ให้สติจดจ่ออยู่กับฐานอารมณ์นั้น ๆ ไม่ให้พลั้งเผลอ ส่วนความสูง 4 ชั้นหมายถึง อริยสัจ 4 คือทุกข์ ความไม่สบายกายไม่สบายใจ สมุทัย คือสาเหตุทำให้เกิดทุกข์ นิโรธคือการดับทุกข์ และมรรค คือหนทางและแนวทางสำหรับดับทุกข์
พระเจดีย์มี 9 องค์ คือ องค์ใหญ่อยู่ชั้นบน มีพระเจดีย์เล็ก เป็นบริวาร 8 องค์ รวมเป็น 9 องค์ มีความหมาย เปรียบด้วยโลกุตรธรรม 9 คือ มรรค 4 ผล 4 นิพพาน 1 โดย 4 องค์ชั้นล่างเปรียบด้วยมรรค 4 และ 4 องค์ ชั้นบน เปรียบด้วยผล 4
ส่วน องค์กลาง เปรียบด้วยพระนิพพาน แสดงว่า พระจุฬามณีเจดีย์สร้างขึ้นมาด้วยลักษณะที่อิงอยู่กับแนวคิดในทางธรรมแห่งพุทธศาสนาโดยละเอียดอ่อนและแยบยลแฝง ไว้ด้วยความคิดอันหลักแหลมลึกซึ้ง ปล้องไฉนของพระเจดีย์ที่มองเห็นเป็นปล้องๆ นั้นมีอยู่ 27 ปล้อง เปรียบด้วยสุคติภูมิ 27 ชั้น คือมนุษย์ 1 ชั้น สวรรค์ 6 ชั้น รูปพรหม 16 ชั้น อรูปพรหม 4 ชั้น รวมเป็น 27 ชั้น
ส่วนรูปสูงสุดของพระเจดีย์ที่มีลักษณะกลมนั้น เปรียบด้วยพระนิพพาน คือความดับสิ้นเชิงแห่งกองทุกข์ ส่วนที่คอระฆังมีลักษณะรูประฆัง เปรียบด้วยระฆังที่มีไว้สำหรับตี ประกาศให้คนทำความดี หรือประกาศเชิญชวนให้ชาวพุทธมาสร้างกุศล และปฏิบัติธรรม เมื่อมองเห็นพระเจดีย์ที่ตระหง่านและแสนจะเพริศแพร้วอลังการแล้วจะก่อให้เกิดความปีติซาบซ่านใจ โน้มน้าวใจให้อยากขึ้นไปไหว้ เพื่อความปลาบปลื้มปีติใจ และสร้างบุญบารมี เพื่อจะได้ไปสู่สุคติภูมิ ที่พระเจดีย์ได้นามว่า พระจุฬามณีเจดีย์ ซึ่งเป็นเจดีย์สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพราะเขาลูกนี้ชื่อเขาดาวดึงส์ เหตุเพราะอยู่ตรงถนนดาวดึงส์และอยู่ที่เมืองนครสวรรค์ โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ) คือพระพิมลธรรมในเวลาต่อมาแห่งวัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ท่านได้ตั้งชื่อให้ และแนะนำให้สร้างพระจุฬามณีไว้บนยอดเขา
จุฬามณีมีตำนานว่า เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จออกบวชมาถึงฝั่งแม่น้ำอโนมา ทรงตัดพระเกศาแล้วทรงขว้างไปในอากาศ พระอินทร์ทรงรับไว้ด้วยผอบแก้ว แล้วนำไปบรรจุไว้ในพระจุฬามณีเจดีย์ และหลังจากถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ เมื่อเสด็จปรินิพานแล้ว มีการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุกันโดยโทณพราหมณ์ พระอินทร์ได้นำพระทาฐธาตุข้างขวาที่โทณพราหมณ์ซ่อนไว้ในผ้าโพกศีรษะใส่ผอบทองไปบรรจุไว้ในพระจุฬามณีเจดีย์ด้วย
พระจุฬามณีเจดีย์บนเขาดาวดึงส์วัดคีรีวงศ์ ภายในองค์พระเจดีย์ชั้น 4 ยังประดิษฐาน พระพุทธรูปจำลองที่สำคัญในประเทศไทย ไว้ให้สักการะบูชา 4 องค์ คือ พระพุทธรูปมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) ประดิษฐานอยู่ทางทิศใต้พระพุทธชินราชจำลอง ประดิษฐานอยู่ทางทิศเหนือ พระพุทธโสธรจำลอง อยู่ด้านทิศตะวันออก พระพุทธรูป หลวงพ่อวัดไร่ขิง จังหวัดนครปฐม อยู่ทางทิศตะวันตก นอกจากนั้นภายในโดมพระเจดีย์ได้มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพุทธประวัติไว้ให้ชมด้วย
ที่เป็นมงคลพิเศษสุดคือ ภายในโดมพระจุฬามณีเจดีย์ทางวัดได้ประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2546 การประกอบพิธีสักการะบูชากราบไหว้พระจุฬามณีเจดีย์ ทางวัดได้จัดขึ้นตรงกับวันงานตรุษจีนที่มีการแห่มังกรของชาวจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นงานเทศกาลประจำปีที่ยิ่งใหญ่มากในระดับจังหวัด หรือแทบจะกล่าวได้ว่าในระดับประเทศ ส่วนด้านนอกเจดีย์ ชั้นบนมีพระพุทธรูปปางประทานพร ขนาดหน้าตัก 60 นิ้ว 4 องค์ ไว้กราบไหว้บูชาเพื่อเป็นสิริมงคล เปรียบด้วยจตุรพิธพรชัย 4 ประการ คืออายุ วรรณะ สุขะ และพละ อันเป็นมงคลแห่งชีวิตที่มีความเจริญรุ่งเรืองในทุก ๆ ด้าน
เพราะพระจุฬามณีเจดีย์ตั้งตระหง่านสูงระเมฆ บนเขาดาวดึงส์ เมื่อผู้ใดมีโอกาสขึ้นไปถึงฐานพระเจดีย์ชั้น 4 จะมองเห็นภูมิทัศน์อันงดงามของเมืองนครสวรรค์ในระยะไกลประมาณ 10 กิโลเมตร

ถ้ามองไปทางทิศตะวันออกจะมองเห็นเขากบ บึงบอระเพ็ด และตลาดปากน้ำโพ หากมองไปทางทิศใต้ จะเห็นอุทยานสวรรค์ ต้นแม่น้ำเจ้าพระยา ศาลากลางจังหวัดนครสวรรค์ และเขาจอมคีรีนาคพรต หันไปทางทิศตะวันตก จะเห็นภูเขาน้อยใหญ่ ทอดตัวเป็นช่วง ๆ โดยมีภูเขาหลวงเป็นฉากกั้น ยามพระอาทิตย์อัสดงจะเป็นภาพที่งดงาม หากมองไปทางทิศเหนือจะเห็นแม่น้ำปิง และทิวทัศน์ทางน้ำที่มาบรรจบกัน คือแม่น้ำปิงกับแม่น้ำน่าน ที่ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ ขึ้นไปถึงเขาดาวดึงส์ และพระจุฬามณีเจดีย์ ที่วัดคีรีวงศ์ และมองเห็นทิวทัศน์อันสวยงามรอบทิศต่าง ๆ ของจังหวัดนครสวรรค์ แล้วทางทิศตะวันตกอีกส่วนหนึ่งจะเห็นพระพุทธชินสีห์ สูงเด่นตระหง่าน พร้อมกับได้ชมได้เห็นทิวทัศน์ และภูเขาต่าง ๆ เป็นทิวแถว เช่นเขาหลวง เป็นต้น
ภายในฐานพระจุฬามณีเจดีย์ที่ชั้นที่ 2 แล้วชั้นที่ 3 ยังเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธรูปปางต่าง ๆ และพระพุทธรูปประจำ 12 ราศี เพื่อกราบไหว้บูชา เป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่เกิดในราศีต่าง ๆ เพื่อให้ได้กราบไหว้ และขอพร เพื่อหวังให้เกิดความผาสุกร่มเย็น และความเจริญก้าวหน้าของผู้คนในแต่ละราศี
๑๖.๐๐ น. เข้าชมงาน “ราชพฤกษ์ ๒๐๑๑ (งานพืชสวนโลก) อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นการจัดครั้งที่ ๒ ในการจัดครั้งแรกลุงและคณะก็เคยมาครั้งหนึ่งแล้ว ครั้งนี้งานยังไม่เปิดเป็นทางการทีแต่ก็เปิดให้ผู้สนใจเข้าชมได้




๑๘.๓๐ น. เข้าพักที่ลานนาสเตย์ เชียงใหม่ ลุงกับป้าได้พักห้อง ๓๑ ซึ่งเป็นห้องพัดลม และที่นี่มีการจัดงานเลี้ยงเพื่อได้สังสรรค์เพื่อสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ ลุงคิดว่าอากาศจะหนาวปรากฏว่าผิดหวังที่ปักษ์ใต้ยังหนาวกว่าเสียอีก ลุงเลยถอดเสื้อนอนเสียเลย พรุ่งนี้เลยคิดว่าจะขึ้นดอยไปหาหนาวสักหน่อย อย่างไรเสียก็มา
เชียงใหม่แล้ว


จันทร์ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๔
๐๕.๐๐ น. ออกจากที่พัก ขึ้นรถตู้ที่เช่าเป็นพิเศษ สู่ดอยอินทนนท์ เพื่อดูทะเลหมอก และไหว้พระธาตุ ขณะขึ้นไปอากาศบนดอย ๐๔ องศา C

ดอยอินทนนท์ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ประกาศเป็นอุทยานฯ เมื่อพ.ศ.2515 ประกาศเป็นอุทยานฯ เป็นลำดับที่ 6 ของประเทศไทย มีพื้นที่ 482.4 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ในเขตอำเภอจอมทอง อำเภอแม่แจ่ม อำเภอแม่วาง และกิ่งอำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ ดอยอินทนนท์แต่เดิมดอยนี้มีชื่อว่า "ดอยหลวง" หรือ "ดอยอ่างกา"ดอยหลวง มาจากขนาดของดอยที่ใหญ่มาก ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า "ดอยหลวง" (หลวง: เป็นภาษาเหนือ แปลว่า ใหญ่)
ดอยอินทนนท์ อดีตกาลก่อนป่าไม้ทางภาคเหนืออยู่ในความควบคุมของเจ้าผู้ครองนครต่าง ๆ สมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ (องค์สุดท้าย) พระองค์ให้ความสำคัญกับป่าไม้อย่างมาก โดยเฉพาะป่าในบริเวณดอยหลวง ทรงรับสั่งว่า หากสิ้นพระชนม์ลงให้นำอัฐิบางส่วนขึ้นไปสร้างสถูปบรรจุไว้บนดอย ดอยนี้จึงมีนามเรียกขานว่า "ดอยอินทนนท์" แต่มีข้อมูล บางกระแสกล่าวว่า ที่ดอยหลวงเรียกว่า ดอยอินทนนท์ นั้น เป็นเพราะเนื่องจากว่าเป็นการให้เกียรติ เจ้าผู้ครองนคร จึงตั้งชื่อจากคำว่า "ดอยหลวง" ซึ่งเป็นชื่อที่มีความซ้ำกับดอยหลวง ของอำเภอเชียงดาว แต่ภายหลังมีชาวเยอรมัน มาทำการสำรวจและวัด ซึ่งปรากฎผลว่า ดอยหลวง หรือดอยอ่างกา ที่อำเภอแม่แจ่มมีความสูงกว่า ดอยหลวง ของอำเภอเชียงดาว จึงเปลี่ยนชื่อใหม่ เพื่อไม่ให้มีความซ้ำซ้อนกัน และเรียกดอยแห่งนี้ว่า "ดอยอินทนนท์"
พระมหาธาตุเจดีย์ : พระมหาธาตุเจดีย์มีด้วยกัน 2 องค์ ได้แก่ พระมหาธาตุนภพลภูมิสิริและพระมหาธาตุนภเมทนีดล ซึ่งสร้างขึ้นโดยทหารอากาศเพื่อเฉลิมฉลองพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชครบรอบ 60 ปี บริเวณโดยรอบประดับด้วยดอกไม้เมืองเหนือสวยงาม มีร้านอาหารและห้องน้ำสะดวกสบาย ซึ่งทางทหารอากาศจะเก็บค่าผ่านเข้าชมเพื่อนำเงินไปบำรุงรักษาสถานที่และพรรณไม้ต่าง ๆ ภายในพระมหาธาตุเจดีย์ กิจกรรม : ชมพรรณไม้, ชมทิวทัศน์ , ชมวัฒนธรรมและประเพณี

จุดชมทิวทัศน์ กม.41 : จุดชมทิวทัศน์อยู่ตรงกิโลเมตรที่ 41 ของถนนสายจอมทอง-ยอดดอยอินทนนท์ สามารถมองเห็นทิวทัศน์อันกว้างไกลของขุนเขาสลับซับซ้อน โดยเฉพาะยามเช้าจะมีทะเลหมอกปกคลุมเหนือหุบเขาน่าชมมาก จากจุดชมทิวทัศน์สามารถมองเห็นพระมหาธาตุนภเมทนีดล และพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริสูงเด่นอยู่คู่กัน กิจกรรม : ชมทิวทัศน์


เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ กิ่วแม่ปาน : อยู่ตรง กม.ที่ 42 ของถนนสายจอมทอง-ยอด ดอยอินทนนท์ ใกล้กับพระมหาธาตุนภเมทนีดล และพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ เส้นทางนี้จะผ่านสภาพธรรมชาติที่แตกต่างกัน 2 ลักษณะ คือ ป่าดิบเขากับทุ่งหญ้าบนสันเขา ทางช่วงแรกผ่านเข้าไปในป่าดิบเขาซึ่งมีบรรยากาศร่มครึ้ม มีแสงแดดส่องลงมาเพียงรำไรตามพื้นป่าเต็มไปด้วยเฟินหลากหลายชนิด มีมอสสีเขียวขึ้นคลุมตามโคนต้นไม้และบริเวณริมห้วยที่ชุมชื้น ทางจะเดินขึ้นเขาจนทะลุออกยังทุ่งหญ้าโล่งกว้างของสันกิ่วแม่ปานซึ่งมีแสงแดดจ้าและสายลมแรง ทำให้บรรยากาศเปลี่ยนไปจากสภาพที่ผ่านมาทันที ทุ่งหญ้าบริเวณนี้เคยเป็นป่าดิบเขามาก่อน แต่ได้ถูกบุกรุกทำลายไปจนมีสภาพดังเช่นปัจจุบัน

จากนี้ทางเดินจะเลียบไปตามสันเขาที่มีดงต้นกุหลาบพันปี รวมทั้งไม้พุ่มขนาดเล็กอย่างช้ามะยมดอยและต่างไก่ป่า ซึ่งเป็นตัวอย่างของสังคมพืชกึ่งอัลไพน์ให้ศึกษา ทางช่วงสุดท้ายจะเข้าสู่ป่าดิบเขาอีกครั้งและไปสิ้นสุดที่จุดเริ่มต้นของเส้นทาง รวมระยะทางทั้งหมดประมาณ 3 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดิน 2-3 ชั่วโมง เส้นทางนี้อยู่ที่ระดับความสูงประมาณ 2,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ผู้สนใจต้องติดต่อขอเจ้าหน้าที่นำทางที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ช่วงเวลาที่เหมาะแก่การเดินเที่ยวชมคือ เดือนธันวาคม-มกราคม ส่วนในช่วงเดือนมิถุนายน-ตุลาคม เส้นทางนี้ปิดให้บริการเพื่อให้เวลาธรรมชาติฟื้นตัว

๑๘.๐๐ น. เข้าที่พักที่จังหวัดลำปาง โรงแรมสุขนิรันดร์ ลุงกับป้าได้ห้อง ๓๑๐ ที่ลำปางอากาศเริ่มหนาวมากขึ้นกว่าเชียงใหม่

อังคาร ๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๔
๐๙.๐๐ น. คณะเดินทางทุกคนเข้าไปเที่ยวในประเทศพม่า ตรงชายแดน อ.แม่สาย จ.เชียงราย เพื่อซื้อสินค้าราคาชายแดน ยกเว้น ลุง ต้องการไหว้พระธาตุดอยเวาซึ่งอยู่ใกล้ๆจุดผ่านแดนแต่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่มีเวลา และไม่ค่อยจะได้ขึ้นไป เพราะขึ้นบนภูเขา ลุงเลยฉายเดี่ยวเดินไปประมาณ ๑๐๐ เมตร เริ่มมีบันไดคอนกรีต ลุงเคยมีประสบการณ์จากการมาครั้งที่แล้วเลยจ้างมอร์เตอร์ไซค์ให้พาขึ้นไป เสียค่าโดยสาร ๑๐ บาท ก็ถึงองค์พระธาตุดอยเวา ซึ่งวัดจะอยู่ข้างล่าง ลุงเลยบูชาพระพุทธรูป หลวงพ่อเชียงแสน รุ่นสิงห์ ๓ เป็นหยกขาวราคา ๑,๙๙๙ บาท และเช่าบูชา พระอุปคุต และพระพิฆเณศวร เพื่อฝากพี่ๆน้องๆทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน ตามประสาคนที่พิสมัยพระเครื่อง ลุงได้ประวัติวัดนี้มานิดหน่อยลองอ่านดูสิ

พระธาตุดอยเวา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เป็นพระธาตุที่เชื่อกันว่ามีความเก่าแก่รองจากพระธาตุดอยตุง ตามตำนานเล่าว่า พระองค์เวา ผู้ครองนครโยนกนาคพันธ์แห่งราชวงศ์สิงหนวัติ เป็นผู้สร้างพระธาตุดอยเวาเพื่อบรรจุ พระเกศาธาตุ จากนั้นมีการบูรณะหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายปรักหักพังจนเหลือซากพระเจดีย์เพียงฐานชั้นล่าง ต่อมามีคหบดีชาวแม่สายร่วมกับพระภิกษุ พ่อค้าประชาชน ผู้มีจิตศรัทธาได้บูรณะขึ้นอีกตามแบบล้านนาออกแบบโดยกรมศิลปากร ในการขุดบูรณะได้พบพระสารีริกธาตุในผอบหินคำ 5 องค์ ผอบใหญ่ขนาดไข่เป็ด จึงบรรจุไว้ในฐานพระเจดีย์เดิม
บนหอชมทิวทัศน์สามารถมองเห็นทัศนียภาพบ้านเมืองสองฝั่งแม่น้ำสาย คืออำเภอแม่สาย และจังหวัดท่าขี้เหล็ก ของพม่าอย่างชัดเจน เป็นที่ประดิษฐานพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถ และพระสุพรรณกัลยา นอกจากนั้น ยังมีรูปปั้นแมงป่องช้าง (แมงเวา) ขนาดใหญ่อยู่ข้างองค์พระเจดีย์ด้วย

การเดินทาง
ใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมง จากตัวเมืองเชียงรายตรงไปอำเภอแม่สาย (หมายเลข 1 ซุปเปอร์ไฮเวย์) ระยะทาง 60 กิโลเมตร ทางขึ้นพระธาตุดอยเวาอยู่ด้านซ้ายมือก่อนถึงชายแดนประมาณ 150 เมตร
หลังเที่ยงวัน ทุกคนมารวมตัวกันที่หน้าสถานีตำรวจเพื่อรอให้รถทัวร์มารับ ขณะรอรถก็เดินซื้อของซื้อสินค้าในฝั่งไทยกันอีกครั้ง เห็นป้าเหม่งได้อะไรหลายอย่างไปฝากลูกหลาน ลุงอดไม่ได้เลยซื้อวิทยุสมัครเล่นไว้ใช้ ๑ เครื่อง เพราะสอบผ่านและได้ใบอนุญาตตั้งนานแล้ว
ระหว่างทางผ่านบ่อน้ำพุร้อนริมถนน ซึ่งอยู่บริเวณ กม.64-65 บนเส้นทางเชียงใหม่-เชียงราย ในอดีตถ้าขับรถมาจากเชียงใหม่เราจะเห็นน้ำพุร้อนทางด้านขวามือ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเก่าแก่ของแม่ขะจาน แต่ปัจจุบันมีการปรับปรุงและขยายพื้นที่ทางด้านซ้ายด้วย ซึ่งสถานที่ใหม่นั้นสวยงามและกว้างขวาง มีร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านจำหน่ายสินค้า OTOP เครื่องประดับ ไม้แกะสลัก และของที่ระลึก เลยแวะชม

น้ำพุร้อนแม่ขะจาน ตั้งอยู่ที่ตำบลแม่เจดีย์ใหม่ อ.เวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย น้ำพุร้อนแม่ขะจานเป็นจุดพักรถระหว่างทางจาก เชียงใหม่ไปสู่เชียงราย หรือจากเชียงใหม่ไปสู่พะเยา น้ำพุร้อน แม่ขะจานแต่เดิมมีอยู่แค่ฝั่งเดียว ก็คือฝั่งขวามือหากมาทางเชียงใหม่ หรือฝั่งซ้ายมือถ้ามาจากเชียงราย พะเยา ภายในมีบ่อน้ำร้อนธรรมชาติ ที่มีอุณหภูมิสูงถึง 90 องศาเซียลเซียส ซึ่งสามารถต้มไข่ได้เลย

น้ำพุร้อนแม่ขะจานเป็นบ้อน้ำร้อนที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่า ของหมู่บ้านโป่งน้ำร้อนเล่าว่า เมื่อก่อนบริเวณนี้ยังไม่มีหมู่บ้าน เป็นป่าดงดิบ เมื่อก่อนเรียกว่าโป่งดิน มีสัตว์ทั้งน้อย ทั้งใหญ่ ลงมากินดินโป่งเป็นประจำ และบริเวณน้ำพุร้อนก็ยังเป็นทางผ่านระหว่างพ่อค้าจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย โดยมีม้าและวัวเป็นพาหนะ เป็นเส้นทางเดินไปตามไหล่เขา และถือเป็นจุดพักแรมค้างคืน เพราะพื้นเป็นลานกว้าง ทำเลสะดวก และมีบ่อน้ำพุร้อนธรรมชาติ เห็นธรรมชาติสวยดี ลุงกับ ลุงตุ๊ (ผ.อ.จตุพร พืชผล โรงเรียนตาขุน) เลยพลัดกันเป็นนายแบบ ผลัดกันเป็นตากล้อง
๑๘.๐๐ น.พักที่โรงแรมเทวราช จ.น่าน ลุงกับป้าได้ห้อง ๓๑๙
พุธ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๔
๐๗.๐๐ น. ออกเดินทางสู่กรุงเทพ และพักที่โรงแรมแปซิฟิก ลุงกับป้าได้ห้อง ๔๐๑๔ ซึ่งโรงแรมนี้หาของกินยากมากต้องเดินไปไกล จากประสบการณ์ที่มาพักหลายหน ป้าเลยซื้อของกินกักตุนไว้ระหว่างทางผ่านลุงเลยไม่ค่อยเดือดร้อนอะไรในเรื่องการหาอาหารมื้อเย็น
พฤหัสบดี ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๔
๐๗.๐๐ น. ออกเดินทางจากกรุงเทพล่องสู่สายใต้ โดยแวะพักไปเรื่อยๆ จนเข้าตลาดน้ำ หัวหินสามพันนาม เพื่อชม และซื้อสินค้า ลุงพอสืบได้ข้อมูลมาด้วยนิดหน่อย ตั้งอยู่ ต.ทับใต้ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตลาดน้ำหัวหินสามพันนาม ซึ่งเป็นตลาดน้ำที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเซีย และเป็นตลาดน้ำในบรรยากาศรัตนโกสินทร์ย้อนยุค สมัยรัชกาลที่ 6 ที่นี่มีเนื้อที่กว่า 100 ไร่ มีร้านค้าทั้งหมด 193 ร้าน และเรือขายสินค้า 40 ลำ โอบล้อมไปด้วยขุนเขาและ ติดแหล่งน้ำธรรมชาติ


ที่ได้ชื่อว่า ตลาดน้ำหัวหินสามพันนาม เพราะเป็นชื่อพระราชทาน ซึ่งตั้งอยู่บริเวณลำห้วยสามพันนาม ที่ได้ชื่อนี้ เพราะลำห้วยแห่งนี้ไหลผ่านหมู่บ้านกว่า 3,000 แห่งนั่นเอง ตลาดน้ำหัวหินสามพันนาม มีการแสดง ของศิลปินจากศิลปากร โชว์แสง สีเสียง ทุกวัน สำหรับการเดินทางสะดวกสบายพร้อมที่จอดรถกว่า 1,000 คัน แนะนำ การแสดงสด กลางน้ำโชว์สี เสียง

๒๐.๐๐ น. ถึง อ.พนม โดยสวัสดิภาพ รอบนี้ค่าใช้จ่าย เกิดจากการสมทบของ ป้าเหม่ง(ผ.อ.ยุพิน เรืองไชย) กับ ผ.อ.สำรวย ภักดี ที่ตามธรรมเนียมของผู้บริหารโรงเรียนอำเภอพนมต้องเลี้ยงฉลองการเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษให้กับเพื่อนผู้บริหารโรงเรียนในอำเภอโดยการสมทบเงินก้อนหนึ่ง และเงินอีกก้อนหนึ่งมาจากการสมทบของผู้บริหารสถานศึกษาที่เกษียณก่อนกำหนด ร่วมกัน คือ ผ.อ.สำรอง จันทวี อดีต ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดถ้ำวราราม ผ.อ.เฉลิม เกตุพงษ์พันธ์ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคลองชะอุ่น ผ.อ.สมพร ทองยวน อดีตผู้อำนวยการโรงเรียน วัดธัญญาราม ผ.อ.สุจิน น้อมเกตุ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านจำปาทอง ที่เหลือคณะร่วมเดินทางช่วยการสมทบ โดยไม่ได้ใช้งบประมาณของทางราชการสักบาทเดียว
(ผู้ที่ร่วมในการท่องเที่ยวหากต้องการฉบับสมบูรณ์กว่านี้ ส่ง ชื่ออีเมล์มาที่ peelaung@hotmail.com แล้วจะส่งไฟล์ไปให้)