วันศุกร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2553

นิทานพื้นบ้านเมืองพนม เรื่อง"แม่พันธุรัตน์

แม่พันธุรัตน์ นิทานท้องถิ่นเกี่ยวกับเมืองพนม เรื่องที่ 2 เล่าโดย นายปณิธาน เรืองไชย (ลุงอ๊อต) :2555 *********************************** จากการที่ได้สดับรับฟังคนแก่คนเฒ่าได้เล่าต่อกันมานานแล้ว จากการสังเกตพบว่าคนท้องถิ่นสมัยนี้ร้อยละ 80 ขึ้นไป ไม่รู้จักเรื่องราวที่เล่าต่อๆกันมาโดยที่ไม่อาจระบุต้นตอของเรื่องเล่าได้ และข้าพเจ้าได้เล่าต่ออีกจากการที่ได้ฟังมาเมื่อตอนเด็กๆอายุสัก 4-5 ขวบ ขณะที่ผู้เล่า นำมาเล่าต่อนี้ ก็ 49 ปี เป็นนิทาน หรือเรื่องเล่าพื้นบ้านอีกเรื่องหนึ่ง นอกจากเรื่อง “ตายมดึง” ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวพันกับสถานที่ต่างๆในลุ่มน้ำคลองศก อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งสถานที่ส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณปลายคลองศก(ต้นน้ำ) หากต้องการอรรถรสในบทกวี มีอยู่พร้อมใน “นิราศพนมฉบับสมบูรณ์” ขณะนี้กำลังดำเนินการเข้าเล่มอยู่ แจ้งความประสงค์ได้ ที่ e-mail: peelaung@hotmail.com หรือ มือถือ 089-970-5245 และแจ้งเบอร์โทรกลับของท่านไว้ด้วยเมื่อหนังสือเสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนค่าใช้จ่ายไม่ระบุแล้วแต่กำลังศรัทธา เพราะจะนำไปสมทบทุนสร้างอุปกรณ์ในห้องสมุด “มุมหนังสือพ่อครู” เป็นของเอกชนบริการให้ความรู้แก่ชุมชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น ....เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า...................................... เมื่อครานางยักษ์ตนหนึ่งชื่อว่าพันธุรัตน์ (ต่อจากนี้ไปจะเรียกว่า แม่พันธุรัตน์) ซึ่งอยู่ตัวคนเดียวไม่มีคู่ ได้รับตัวพระสังข์โอรสน้อยของเจ้าเมืองจากพญานาคราชซึ่งอยู่ในเมืองบาดาล ก็เลี้ยงดูเป็นบุตรบุญธรรม เอาใจใส่ ทำนุถนอม หวงแหน และรักกุมารน้อยมาก จวบจนกระทั่งพระสังข์เติบโตเป็นหนุ่ม รูปร่างสง่างามมาก (เรื่องราวทั้งหมดของพระสังข์ยกเว้นตอนที่ข้าพเจ้าเล่าอยู่นี้หาอ่านได้จากบทพระราชนิพนธ์ เรื่องสังข์ทอง) อยู่มาวันหนึ่ง แม่พันธุรัตน์ ได้ออกหาอาหารสำหรับตนเอง และหาผลไม้สำหรับลูกน้อย ในป่าลึก พระสังข์ในวัยหนุ่มน้อยได้โอกาสที่จะหนีจากแม่ที่เป็นยักษ์ (ซึ่งตัวพระสังข์เองเป็นมนุษย์) จึงลงไปอาบน้ำชุบตัวในบ่อน้ำทองศักดิ์สิทธิ์ ทำให้ร่างกายพระสังข์ เหลืองทองสง่างามมาก หยิบเสื้อเกราะรูปเงาะป่า เกือกแก้ว มาสวมใส่ จับไม้เท้ากายสิทธิ์มาถือ เหาะทะยานไปในอากาศข้ามเขตไปในเขตของมนุษย์ซึ่งยักษ์ไม่สามารถเข้าไปได้ ส่วนแม่พันธุรัตน์กลับมาถึงถ้ำที่อยู่ไม่เห็นลูกและสิ่งของต่างๆก็รู้ได้ทันทีว่าลูกหนีตน จึงออกเดินทางเพื่อตามให้ลูกรักกลับมา และตามมาทันพระสังข์แต่ไม่สามารถข้ามไปในเขตแดนมนุษย์ได้ จึงร้องเรียก คร่ำครวญ ให้พระสังข์กลับ แต่พระสังข์ใจแข็ง เรียกอ้อนวอนอย่างไรก็ไม่ยอมกลับ จนแม่พันธุรัตน์ยอมแพ้ จึงกล่าวบอกพระสังข์ว่า หากไม่มีลูกอยู่ด้วยแม่ขอตายดีกว่า และด้วยความรักลูกกลัวว่าไม่มีทางทำมาหากินจะอดตาย ก่อนตายจึงเขียนมนต์คาถา เรียกเนื้อ(เนื้อทราย อยู่ประเภทกวาง) เรียกปลาไว้บนแท่งหินใหญ่ เสร็จแล้วก็บอกให้ลูกชายมาเรียนพระคาถานั้น แล้วแม่ยักษ์พันธุรัตน์ก็กลั้นใจตายตรงนั้นด้วยความตรอมใจ ฝ่ายพระสังข์เห็นแม่สิ้นชีวิต ก็โศกเศร้าเสียใจ ร่ำไห้ลงมากอดศพแม่ คร่ำครวญถึงพระคุณที่แม่พันธุรัตน์ได้ชุบเลี้ยง เลี้ยงดูมาอย่างดี และทำพิธีขอขมาต่อศพแม่ นำศพใส่ในหีบพาไปเก็บไว้บนยอดเขาใหญ่ ซึ่งอยู่บริเวณปลายคลองศก ภูเขานี้เรียกว่า “เขาศพ หรือภูเขาศพ” (ต่อมาเพี้ยนเป็น “เขาศก”) ส่วนแท่งหินที่จารึกมนต์เรียกเนื้อเรียกปลา เชื่อว่าอยู่บนก้อนหินใหญ่บริเวณ “วังกะทัง” ในคลองศก หลังจากท่องมนต์จนจำได้อย่างดีแล้ว พระสังข์จึงปลอมแปลงตนอยู่ในรูปเงาะป่า ออกเดินทางจนได้นางรจนา ธิดาคนสวยน้องสุดท้องคนที่เจ็ด ของท้าวสามล เมืองสามลเป็นคู่ชีวิต และได้ใช้วิชาที่แม่ให้จับสัตว์ แข่งกับเขยพี่ทั้งหกจนชนะ และภายหลังได้ครองเมืองแทนพระบิดา ก็ระลึกถึงพระคุณของแม่พันธุรัตน์ที่ได้ชุบเลี้ยงตัวเองมา เห็นว่าศพแม่พันธุรัตน์ซึ่งเป็นนางยักษ์ ยังอยู่บนยอดเขาใหญ่คิดจัดพิธีการปลงศพเพื่อทำการฌาปนกิจให้สมศักดิ์ศรีมารดาของกษัตริย์ จึงรับสั่งให้จัดเตรียมสิ่งของเพื่อเข้าทำพิธี ขนลงเรือใหญ่กางใบ ล่องจนไปถึงหน้าเขาศพ (เขาศก) เกิดอาเพศเรือถูกพายุใหญ่พัดล่มจมลงกลางคลองศก ส่งของที่จัดเตรียมมาถูกน้ำพัดพา หล่น กระจัดกระจาย ควายถึก(ถึก หมายถึง ใหญ่มาก)สีดำตัวหนึ่งหล่นจมหายในน้ำเชี่ยว และกลายเป็นหิน เรียกว่า “พ่อตาควาย” เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนสัญจรสักการะในปัจจุบัน ส่วนข้าวต้ม ที่ห่อใบตองลอยไปตามกระแสน้ำติดที่ภูเขาใหญ่ เรียกว่า “เขาต้ม หรือ ภูเขาต้ม” อยู่ในพื้นที่ ตำบลคลองศก อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี พื้นที่บริการของอุทยานแห่งชาติเขาสก ผ้าที่นำมาหลายผืนซึ่งพับไว้อย่างดี ลอยไปตามน้ำติดที่ริมฝั่งคลอง กลายเป็นหินซ้อนกันอย่างงดงาม เหมือนกับวางสลับกันไป เรียกบริเวณนั้นว่า “พับผ้า” ส่วนหีบเงิน หีบทอง สมบัติล้ำค่าต่างๆ ถูกทำไปซอก(เป็นภาษาใต้ คือคำว่า ซ่อน) ไว้ในถ้ำและฝากให้เทวดาช่วยปกปักรักษา บริเวณ “ถ้ำนกยาง” ซึ่งกลางถ้ำมีหินรูปร่างเหมือนนก ว่ากันว่าคนเฝ้าถ้ำว่างไม่รู้จะทำอะไรเลยสลักหินเป็นรูปนกไว้ (อยู่ในพื้นที่ หมู่ที่ 3 ตำบลคลองศก อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี และเงินทองอีกส่วนหนึ่ง กลาสีเรือได้ล่องตามลำน้ำมาเก็บซ่อนไว้ระหว่างซอกเขาแต่เป็นพื้นที่ที่ลำน้ำผ่านกลาง ตรงเชื่ยว “ศอกชะนี” ปัจจุบันเป็นหย่อมบ้าน ในหมู่ที่ 3 ตำบลคลองศก อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่วนผู้ติดตามพระสังข์ หลายคนต้องออกหาอาหารเพื่อประทังชีวิต โดยการล่าสัตว์ในป่าแถบนั้น พบกวางตัวใหญ่ กำลังแทะเล็มปง(ดินโป่ง เป็นเกลือแร่ที่จำเป็นสำหรับสัตว์กีบ) อยู่ริมคลอง ก็ฆ่ากวางแล่เนื้อเป็นอาหาร โดยส่วนหัวกวางได้ฝังไว้ที่ริมปง(ดินโป่ง)นั้น ต่อมาเรียกว่า “บ้านป่งหัวกวาง” หมอนหลายใบได้ลอยไปตามน้ำและติดค้างที่เชี่ยวซึ่งน้ำไหลแรงมาก บริเวณ “บ้านเชี่ยวหมอน” หมู่ที่ 8 ตำบลพนม อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผลมะม่วงได้ร่วงจากกระจาดไหลไปตามน้ำได้ไกลกว่าหมอน ไปติดบริเวณน้ำตื้นแต่เชี่ยวมากบริเวณใกล้ปากคลองนม(คลองพนม) เป็นคลองเล็กแต่น้ำเชี่ยวไหลแรงมาก ซึ่งไหลมารวมกับคลองศก ซึ่งเรียกว่า “เชี่ยวม่วง” อยู่พื้นที่ ในเขตบริการของเทศบาลพนม ตำบลพนม อำเภอพนม ส่วนตะกร้าที่ใส่กุ้งได้ไหลตามน้ำพ้นมาติดบริเวณที่น้ำเชี่ยวแรงอีกที่หนึ่งในพื้นที่รับผิดชอบของเทศบาลพนม ตำบลพังกาญจน์ อำเภอพนม เลยเรียกว่า “บ้านเชี่ยวกุ้ง” สิ่งของที่พระสังข์ให้เตรียมมาเสียหายหนัก เลยกลายเป็นเรื่องเล่านิทานปรัมปราสืบต่อมา........... หากเล่าขาดตกบกพร่องขอผู้รู้ชี้แนะด้วยเพื่อความสมบูรณ์ของเนื้อหาที่ได้รับ เพื่อให้เป็นมรดกนิทานพื้นบ้านให้กับอนุชนรุ่นหลังสืบต่อไป นายปณิธาน เรืองไชย e-mail: peelaung@hotmail.com หรือ มือถือ 089-970-5245